วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2551

อัตลักษณ์


อัตลักษณ์ (identity) เป็นความรู้สึกนึกคิดที่บุคคลมีต่อตนเองว่า “ฉันคือใคร” ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการปฏิสังสรรค์ระหว่างตัวเรากับคนอื่น โดยผ่านการมองตนเองและการที่คนอื่นมองเรา อัตลักษณ์ต้องการความตระหนัก (awareness) ในตัวเราและพื้นฐานของการเลือกบางอย่าง นั่นคือเราจะต้องแสดงตนหรือยอมรับอย่างตั้งใจกับอัตลักษณ์ที่เราเลือก ความสำคัญของการแสดงตนก็คือ การระบุได้ว่าเรามีอัตลักษณ์เหมือนกลุ่มหนึ่งและมีความแตกต่างจากกลุ่มอื่นอย่างไร และ “ฉันเป็นใคร” ในสายตาคนอื่น (นัทธนัย ประสานนาม, 2550)
คำว่า “อัตลักษณ์” มีความแตกต่างจากคำว่า “บุคลิกภาพ” เนื่องจากบุคคลอาจมีความเหมือนกันได้ในแง่ของบุคลิกภาพ เช่นการมีนิสัยหรือลักษณะบางอย่างที่อาจจะเหมือนกันได้ แต่การเหมือนกันในด้านอัตลักษณ์ของบุคคลนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความรู้สึกร่วมกันในด้านการตระหนักรู้ (awareness) บางอย่างเกี่ยวกับตัวตนของเรา หมายถึงการยอมรับในความเป็นตัวตน ประกอบเข้ากับการแสดงตัวตน (making oneself) ให้เห็นว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างอย่างไรกับกลุ่มอื่นหรือบุคคลอื่น
การที่เราเลือกนิยามความหมายของตนเองและแสดงตนเองต่อบุคคลหรือสังคมว่าเราเป็นใครนั้น เป็นกระบวนการของการเลือกใช้และแสดงออกซึ่งจะทำให้รู้ว่าเราเหมือนหรือแตกต่างจากคนอื่นหรือกลุ่มอื่นอย่างไรโดยผ่านระบบของการใช้สัญลักษณ์ (Symbol) ซึ่งเป็นสิ่งที่ประกอบกันทั้งด้านอารมณ์ความรู้สึกภายในตัวเราและกระบวนการของโลกภายนอกที่เราเกี่ยวพัน เพราะมนุษย์เลือกใช้ความหมายหรือเปลี่ยนแปลงความหมายที่เกี่ยวกับตนเองทั้งในกระบวนการที่เขาสัมพันธ์กับโลกและในส่วนของตัวตนที่มันซ้อนทับกันอยู่ ดังนั้นจึงมีการจัดแบ่งประเภทของอัตลักษณ์เป็น 2 ระดับคือระดับอัตลักษณ์ส่วนบุคคล (personal identity) และระดับอัตลักษณ์ทางสังคม (social identity) เช่นการที่สังคมกำหนดบทบาทหน้าที่และตำแหน่งทางสังคมให้กับเรา บทบาทความเป็นลูก ความเป็นเพื่อน หรือตำแหน่งในที่ทำงาน ระบบคุณค่าที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด ทำให้เราเรียนรู้และเลือกที่จะนิยามตนเองให้เหมาะสมในสังคม และมีการเลื่อนไหลปรับเปลี่ยนไปตามบริบท เช่นเมื่ออยู่ในครอบครัวก็จะมีบทบาทเป็นลูก เป็นพี่น้อง บางครั้งบทบาทและตำแหน่งอาจซ้อนทับกัน เช่นเราเป็นนักศึกษาในขณะที่เป็นสมาชิกของกลุ่มเพื่อนในชั้นเรียน เป็นต้น สัญลักษณ์ที่เราเลือกหยิบมาใช้ในการนิยามตนเองทั้งต่อสังคมและต่อตัวเองนั้นเกิดขึ้นได้โดยผ่านระบบการสร้างภาพแทนความจริง (representation) เพราะการแสดงออกซึ่งความสัมพันธ์ต่างๆ จะกระทำโดยผ่านระบบสัญลักษณ์ที่หลายรูปแบบ เช่นบุคคลเลือกแต่งกายเพื่อแสดงความเป็นสมาชิกของสถาบัน หรือแต่ละสถานศึกษามีการเลือกใช้สี สัญลักษณ์หรือเครื่องแบบที่แตกต่างกันออกไป ก็เพื่อแสดงความเป็นตัวตนให้กับบุคคลรับรู้ แต่อย่างไรก็ตาม การที่เรามองตัวเราและพยายามเลือกนิยามความหมายเพื่อแสดงความเป็นตัวตนของแต่ละบุคคล กับสิ่งที่คนอื่นมองเห็นในตัวเราว่าอย่างไรนั้นมันอาจไม่สอดคล้องกันเสมอไป
อัตลักษณ์เกิดขึ้นจากการปฏิสังสรรค์ทั้งระหว่างบุคคลในสังคมและภายในตัวบุคคลเอง ในแต่ละบุคคลอาจมีอัตลักษณ์ที่หลากหลาย แต่จะมีการเลือกเอาเพียงอัตลักษณ์ใดอัตลักษณ์หนึ่งที่ตนยอมรับเพื่อนำมาใช้ภายใต้เงื่อนไขของบริบทในช่วงเวลาและพื้นที่ และอัตลักษณ์นี้อาจถูกกำหนดได้ทั้งจากบุคคลเป็นผู้กำหนดตนเองหรือถูกกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของบุคคลโดยสังคมก็ได้ การกำหนดอัตลักษณ์นี้เกิดขึ้นบนกระบวนการคิดเกี่ยวกับระบบของความแตกต่าง ระบบของความหลากหลาย และการตั้งคำถามว่าอัตลักษณ์ที่จะสร้างขึ้นนั้นมีความเชื่อมโยงกับสังคมอย่างไร
ดังนั้นอัตลักษณ์กับสังคมจึงเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออก เนื่องจากการนิยามความเป็นตัวตนของอัตลักษณ์นั้นต้องมีการอ้างอิงกับสังคม แม้จะเป็นในระดับตัวบุคคลก็ยังต้องมีการนิยามตนเองว่ามีตำแหน่งแห่งที่ หรือมีบทบาทอย่างไรในสังคมที่บุคคลอาศัยอยู่
ฉลาดชาย รมิตานนท์ (2550) กล่าวว่าอัตลักษณ์นั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ ตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากการสร้างของวัฒนธรรมในช่วงเวลาหนึ่ง และวัฒนธรรมก็เป็นสิ่งก่อสร้างทางสังคม (social construct) นอกจากนี้วัฒนธรรมก็ไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งหรือตายตัว หากแต่มีรูปแบบเป็นวงจรที่เรียกว่า “วงจรแห่งวัฒนธรรม” (circuit of culture) ดังนั้นอัตลักษณ์ทั้งหลายจึงมีกระบวนการถูกผลิต (produced) ให้เกิดขึ้น สามารถถูกบริโภค (consumed) และถูกควบคุมจัดการ (regulated) อยู่ในวัฒนธรรมเหล่านั้น และทั้งนี้ยังมีการสร้างความหมายต่างๆ (creating meanings) ผ่านทางระบบต่างๆ ของการสร้างภาพตัวแทน (symbolic systems of representation) ที่เกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ต่างๆ ทางอัตลักษณ์อันหลากหลายที่เราเลือกใช้ หรือนำเอามาสร้างเป็นอัตลักษณ์ของเรา

--------------------------------------------------------------------------------------------
ฉลาดชาย รมิตานนท์. “อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลง.” [ระบบออนไลน์].
แหล่งที่มา
http://www.soc.cmu.ac.th/~wsc/data/Identity28_3_05.pdf
นัทธนัย ประสานนาม. “เพศ ชาติพันธุ์ และปัญหาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ ในภาพยนตร์เรื่อง
Touch of Pink.” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา
http://www.midnightuniv.org/midnight2545/document95248.html
รติกร กลิ่นประทุม, ศรายุทธ โรจน์รัตนรักษ์, และพรพรรณ ไศลวรากุล. “หลักสูตร
อิเลคทรอนิกส์วิชาแนวคิดและทฤษฎีทางมานุษยวิทยา.” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา
http://cyberlab.lh1.ku.ac.th/elearn/faculty/social/soc65/13-2.html
อภิญญา เฟื่องฟูสกุล. อัตลักษณ์ (Identity) การทบทวนทฤษฎี และกรอบแนวคิด. กรุงเทพฯ :
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2546.

บทความวิจัย

องค์ประกอบของบทละครนอก
เรื่อง สังข์ทอง ฉบับการ์ตูน

พิมจันทร์ พิมศรี

บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบของบทละครนอกเรื่องสังข์ทอง ในด้านแนวคิด โครงเรื่อง ตัวละคร บทสนทนา และกลวิธีการนำเสนอ
ผลการศึกษาพบว่า แนวคิดที่ปรากฏในเรื่องมี ๒ ลักษณะคือส่งเสริมจริยธรรม และ ส่งเสริมจินตนาการ จริยธรรม ที่ปรากฏมี ๕ ลักษณะ ดังต่อไปนี้ ความเมตตากรุณา ความกตัญญูกตเวที ความขยันหมั่นเพียร ความอดทนอดกลั้น ความมีสัมมาคารวะ ส่งเสริมจินตนาการ ในด้านการส่งเสริมจินตนาการพบเพียงลักษณะเดียว คือ การส่งเสริมจินตนาการภาพด้วยภาษา นอกจากนี้ยังสอนให้บุคคลใช้วิจารณญาณในการมองคน การคบคน โดยให้มองคนที่จิตใจไม่ใช่เพียงรูปกายภายนอก ทรัพย์สมบัติ หรือชาติตระกูล โครงเรื่องแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ โครงเรื่องใหญ่หนึ่งเรื่อง และโครงเรื่องย่อยสี่โครงเรื่อง
ตัวละครที่ถูกสร้างในเรื่องสังข์ทองมี๒ประเภทคือตัวละครเอกและตัวละครรอง ตัวละครเอกเป็นตัวละครที่ถูกสร้างให้มีบุคลิกลักษณะภายนอก ๒ บุคลิก คือ ในร่างของพระสังข์เป็นหนุ่มรูปงามมีกายสีทอง และร่างเจ้าเงาะมีรูปร่างอัปลักษณ์ น่าเกลียดน่ากลัว ส่วนบุคลิกลักษณะภายในจะเป็นผู้ที่มีคุณธรรม และเป็นผู้ที่มีความสามารถมาก สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้เพราะมีของวิเศษช่วยเหลือ ตัวละครรองที่ปรากฏในเรื่องสังข์ทองมี ๑๒ ตัวบุคลิกภาพภายนอกของตัวละครรองส่วนใหญ่จะมีรูปกายที่สวยงาม สำหรับบุคลิกภาพภายใน จะถูกสร้างให้มีความสมจริงคือ มีความรัก โลภ โกรธ หลง อิจฉาริษยา ตามธรรมชาติของมนุษย์
บทสนทนาของตัวละคร ในเรื่องสังข์ทองประกอบด้วยคุณสมบัติดังนี้ ๑)บทสนทนามีความสมจริง ๒)บทสนทนามีส่วนช่วยในการดำเนินเรื่อง ใช้แทนการบรรยาย ๓)บทสนทนามีส่วนช่วยให้รู้จักตัวละครในเรื่องทั้งรูปร่างและนิสัยใจคอ ๔) บทสนทนามีส่วนช่วยให้เรื่องน่าอ่าน น่าสนใจ และมีชีวิตชีวาขึ้น
กลวิธีการนำเสนอ แบ่งออกเป็น ๓ ชนิด ดังต่อไปนี้ ๑)กลวิธีในการวางโครงเรื่องแบ่งเป็น กลวิธีในการเปิดเรื่อง ใช้การเปิดเรื่องแบบบรรยาย กลวิธีในการดำเนินเรื่อง ใช้การดำเนินเรื่องตามแบบปฏิทิน กลวิธีในการปิดเรื่อง ใช้การปิดเรื่องแบบสุขนาฏกรรม ๒) กลวิธีในการเล่าเรื่อง ใช้กลวิธีการเล่าแบบผู้เล่าเป็นผู้เล่าเองในฐานะผู้รู้แจ้ง ๓)กลวิธีสร้างตัวละคร มี ๒ประเภทคือตัวละครที่เป็นมนุษย์ จะสร้างให้มีความสมจริงและมีของวิเศษที่ทำให้มีความสามารถเกินจริง และตัวละครที่เป็นอมนุษย์จะสร้างให้มีความสามารถที่เหนือมนุษย์และมีฤทธิ์มาก

บทนำ
วรรณคดีไทยเป็นศิลปะที่ให้ทั้งความรื่นรมย์ความสนุกสนานและคติสอนใจที่มีคุณค่าแก่คนไทยมาช้านาน ตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน คนไทยเรียนรู้วรรณคดีไทยหลายวิธี เช่น จากการฟัง การอ่าน การดูละคร ฯลฯ ในปัจจุบันมีวิธีการเผยแพร่วรรณคดีในหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นหนังสือ ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ทั้งที่เป็นละครพื้นบ้านแบบจักรๆวงศ์ และที่เผยแพร่ในรูปแบบฉบับการ์ตูนทางโทรทัศน์ ซึ่งสามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่ายขึ้น และสื่อโทรทัศน์ยังเป็นสื่อยอดนิยมที่เข้าถึงประชาชนในวงกว้าง ดังนั้นสื่อที่ได้รับการเผยแพร่ทางโทรทัศน์ก็ย่อมได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางด้วย
วรรณกรรมสำหรับเด็ก จัดได้ว่าเป็นสื่อที่ไม่เคยล้าสมัยซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและส่งเสริมให้เด็กมีความเจริญงอกงามทางด้านสติปัญญา เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้เด็กเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ พร้อมทั้งให้ความบันเทิงควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากเด็กเป็นวัยที่สนใจสิ่งต่างๆ รอบตัว โดยเฉพาะเรื่องราวที่แปลกใหม่ วรรณกรรมจึงเป็นสื่ออย่างหนึ่งที่ส่งเสริมความรู้ ความคิดและจินตนาการแก่เด็ก ยิ่งถ้าเด็กอ่านมากเพียงใดความรู้ความคิดของเด็กก็จะกว้างไกลมาก
บทละครเป็นเรื่องราวของมนุษย์ที่นำเสนอในรูปของการกระทำที่มีจุดประสงค์ และมีองค์ประกอบที่น่าเชื่อถือชวนให้ติดตาม นอกจากนี้บทละครยังเป็นวรรณกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อใช้แสดงให้คนดู ผู้แสดงจะต้องถ่ายทอดเนื้อหา ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ตลอดจนลักษณะนิสัยของตัวละครไปสู่ผู้ชมด้วยการแสดงออกในรูปของการกระทำที่น่าสนใจ
เรื่อง สังข์ทอง เป็นนิทานโบราณเรื่องหนึ่งของไทยที่เป็นที่นิยมและรู้จักแพร่หลายในหมู่คนไทยทุกเพศทุกวัย และทุกระดับชั้นมาเป็นเวลาช้านาน นิทานเรื่อง สังข์ทองนอกจากจะปรากฏในรูปของนิทานเรื่องเล่าแล้ว ยังได้มีผู้นำเรื่องนี้มาแต่งเป็นบทละครขึ้น และในปัจจุบันยังถูกนำมาเผยแพร่ในหลากหลายรูปแบบที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น เช่น ละครพื้นบ้าน และการ์ตูน เป็นต้น ซึ่งการนำมาเผยแพร่ในรูปแบบดังกล่าวมีผลให้การใช้ภาษาเปลี่ยนไปจากเดิมเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน และเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ง่ายขึ้นแก่ผู้รับสาร
ละครนอกเรื่อง สังข์ทอง เป็นนิทานที่มีประวัติความเป็นมาช้านาน และมีการนำนิทานเรื่องนี้ไปเผยแพร่หลายรูปแบบ เช่น ละคร หนังสือ ลิเก ลำตัด และโดยการเล่าสืบต่อกัน ในทุกภาคของประเทศไทย ซึ่งแต่ละท้องถิ่นแต่ละภาคผู้เผยแพร่จะมีลักษณะการใช้ภาษาในการถ่ายทอดแตกต่างกันตามจุดประสงค์ของผู้ถ่ายทอดเรื่องราวตามกลุ่มเป้าหมาย
การนำวรรณคดีเรื่องสังข์ทองมาเผยแพร่ในรูปแบบการ์ตูนนี้ เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เยาวชนไทยสนใจและเข้าใจในเรื่องวรรณคดีไทยมากขึ้น และยังเป็นการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้กับเยาวชนได้ด้วย เพราะการดูหรืออ่านจะมีผลให้เกิดการซึมซับลักษณะนิสัยและการกระทำบางประการจากตัวละครสู่ผู้ชมผู้อ่านได้ ดังนั้นการเผยแพร่เรื่องจึงมีความจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเยาวชนผู้ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะเติบโตต่อไปในวันข้างหน้า ทั้งนี้ละครนอกเรื่องสังข์ทองฉบับการ์ตูนได้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาให้เข้ากับปัจจุบัน และตัดทอนเนื้อหาบางส่วนออก แต่ยังคงเค้าโครงเรื่องและคติข้อคิดของเรื่องไว้เหมือนกับเค้าโครงเรื่องเดิมทุกประการ
ผู้วิจัยจึงมีความประสงค์ที่จะศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบของวรรณคดีเรื่องสังข์ทองฉบับการ์ตูนในฐานะที่เป็นวรรณกรรมสำหรับเด็ก ซึ่งผู้วิจัยเห็นว่าสังข์ทองฉบับการ์ตูนสามารถสร้างความเข้าใจให้กับเยาวชนและผู้อ่านได้และหากได้ทำการศึกษาวิจัยจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและพัฒนาวรรณคดีไทยต่อไป

การเก็บรวบรวมข้อมูล
ในงานวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยศึกษาเฉพาะเรื่องสังข์ทอง ดังรายการต่อไปนี้
๑. การ์ตูนเรื่องสังข์ทองของบริษัท บรอดคาซท์ เทเลวิชั่น จำกัด
๒. หนังสือเรื่อง สังข์ทอง ของรื่นฤทัย สัจจพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑
๓. หนังสือ สังข์ทองฉบับการ์ตูน ของบริษัทสกายบุ๊กส์ จำกัด

๑.๒ วัตถุประสงค์ของการวิจัย
เพื่อศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบด้านเนื้อหาของวรรณกรรมไทย เรื่องสังข์ทองฉบับการ์ตูน ด้านแนวคิด โครงเรื่อง ตัวละคร บทสนทนา และกลวิธีการนำเสนอ

๑.๓ สมมติฐาน
๑. องค์ประกอบด้านแนวคิดจะสื่อในเรื่องคุณธรรมจริยธรรม
๒. องค์ประกอบด้านโครงเรื่องมีการวางโครงเรื่องหลักและรอง
๓. องค์ประกอบด้านตัวละครสามารถแบ่งได้สองประเภทคือตัวละครเอกและตัวละครรอง
๔. องค์ประกอบด้านบทสนทนาใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายและข้อความสั้นๆ
๕. องค์ประกอบด้านกลวิธีการนำเสนอใช้การวางโครงเรื่องที่ไม่ซับซ้อน

ผลการวิจัย
จากการศึกษาองค์ประกอบของเรื่องสังข์ทองในด้าน แนวคิด โครงเรื่อง ตัวละคร บทสนทนาและกลวิธีการนำเสน สามารถสรุปผลได้ดังนี้
๑ แนวคิด แนวคิดที่ปรากฏในเรื่องมี ๒ ลักษณะคือ
๑.๑ ส่งเสริมจริยธรรม จริยธรรมที่ปรากฏมี ๕ ลักษณะ ดังต่อไปนี้

๑) ความเมตตากรุณา
๒) ความกตัญญูกตเวที
๓) ความขยันหมั่นเพียร
๔) ความอดทนอดกลั้น
๕) ความมีสัมมาคารวะ
๑.๒ สงเสริมจินตนาการ ในด้านการส่งเสริมจินตนาการพบเพียงลักษณะเดียว คือ การส่งเสริมจินตนาการภาพด้วยภาษา

๒ โครงเรื่อง สำหรับโครงเรื่อง ได้แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๒.๑ โครงเรื่องใหญ่ โครงเรื่องใหญ่ของเรื่องสังข์ทองเป็นเรื่องราวของพระสังข์ตัวเอกของเรื่องที่เกิดมาในร่างของหอยสังข์เป็นเหตุให้ถูกเนรเทศออกจากเมือง เพราะความอิจฉาของมเหสีฝ่ายซ้ายจึงต้องไปอยู่กับตายายที่กระท่อมชายป่า แต่มเหสีฝ่ายซ้ายพยายามฆ่าพระสังข์ ในที่สุดจึงถูกนำไปถ่วงน้ำ พญานาคได้ช่วยเหลือและนำไปให้นางยักษ์พันธุรัตเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม พระสังข์ได้ขโมยของวิเศษหนีนางยักษ์เพื่อตามหาพระมารดา และได้เดินทางไปยังเมืองสามนต์มีพระธิดา ๗ องค์กำลังทำพิธีเลือกคู่ พระธิดาองค์สุดท้องคือนางรจนาเลือกพระสังข์ในร่างของเจ้าเงาะเป็นคู่ครอง ท้าวสามนต์ไม่พอใจในราชบุตรเขยจึงขับไล่ไปอยู่กระท่อมปลายนา และหาทางกำจัด พระอินทร์เกิดความสงสารนางรจนาพระอินทร์จึงลงมาท้าตีคลีเอาบ้านเอาเมือง ไม่มีเขยคนใดเอาชนะได้ พระสังข์จึงถอดรูปเงาะและออกตีคลีจนได้รับชัยชนะ ต่อมาพระบิดาและพระมารดาจึงออกตามหาจึงได้พบกัน ทั้งสามกษัตริย์เดินทางกลับบ้านเมือง
๒.๒ โครงเรื่องย่อย โครงเรื่องย่อยที่แทรกอยู่ในโครงเรื่องใหญ่ของเรื่องสังข์ทองมี ๔ โครงเรื่องย่อย คือ
๑) โครงเรื่องย่อยที่ ๑ เป็นเรื่องราวของนางจันทาที่ทำเสน่ห์ให้ท้าวยศวิมลหลงใหลและเชื่อว่าพระสังข์เป็นกาลกิณี จึงให้ทหารไปนำตัวพระสังข์ประหารชีวิต แต่ไม่สามารถทำอันตรายพระสังข์ได้จนในที่สุดมีรับสั่งให้นำไปถ่วงน้ำ
๒) โครงเรื่องย่อยที่ ๒ เป็นเหตุการณ์เมื่อพระสังข์จมลงใต้บาดาลท้าวภุชงค์พญานาคราชช่วยพระสังข์ไว้ และนำพระสังข์ไปให้นางพันธุรัตซึ่งเป็นนางยักษ์เลี้ยงดู แต่เมื่อพระสังข์รู้ว่านางเป็นยักษ์จึงคิดหนี ก่อนหนีพระสังข์ได้ชุบตัวในบ่อทองและขโมยของวิเศษสามสิ่ง คือ รูปเงาะ ไม้เท้ากายสิทธิ์ และเกือกแก้ว นางพันธุรัตได้ตามมาถึงเขาแห่งหนึ่งแต่ขึ้นไปหาพระสังข์ไม่ได้เพราะพรสังข์อธิษฐานไว้ นางจึงกลั้นใจตายก่อนตายนางได้สอนมนต์เรียกเนื้อเรียกปลาให้พระสังข์
๓) โครงเรื่องย่อยที่ ๓ เป็นเรื่องราวของพระสังข์ตอนที่หนีนางพันธุรัตและตามหาพระมารดามาถึงเมืองสามนต์ และได้นางรจนาเป็นคู่ในกายของเงาะ ทำให้ท้าวสามนต์ไม่พอใจขับไล่และหาทางกำจัดพระสังข์ โดยให้ออกหาเนื้อหาปลา ผู้ใดหาไม่ได้จะถูกประหารชีวิต พระสังข์มีมนต์เรียกเนื้อเรียกปลาจึงรอดพ้นจากการถูกประหาร พระอินทร์สงสารนางรจนาที่ได้รับความลำบากเพราะพระสังข์ไม่ยอมถอดรูปเงาะจึงแปลงกายลงมาท้าท้าวสามนต์แข่งตีคลี พระสังข์จึงต้องถอดรูปเงาะและออกตีคลีจนได้รับชัยชนะ ท้าวยศวิมลจึงยกราชสมบัติให้พระสังข์
๔) โครงเรื่องย่อยที่ ๔ พระอินทร์บังคับให้ท้าวยศวิมลไปรับตัวนางจันเทวีเข้าวัง ทั้งสองพระองค์ปลอมตัวออกตามหาพระสังข์ไปยังเมืองสามนต์ นางจันเทวีแกงฟักนางแกะสลักชิ้นฟักเป็นเรื่องราวของพระสังข์และพระมารดาขึ้นถวายพระสังข์ เมื่อพระสังข์ทอดพระเนตรชิ้นฟักทรงทราบทันทีว่าพระมารดาตามหาพระองค์ ในที่สุดพระสังข์ได้พบกับพระบิดาและพระมารดาและเดินทางกลับบ้านเมืองของตน

๓ ตัวละคร
๓.๑ ตัวละครเอก ในเรื่องสังข์ทองนี้ตัวละครเอก คือ พระสังข์ หรือ เงาะป่า เป็นตัวละครที่ถูกสร้างให้มีบุคลิกลักษณะภายนอก ๒ บุคลิก คือ ในร่างของพระสังข์เป็นหนุ่มรูปงามมีกายสีทอง และร่างเจ้าเงาะมีรูปร่างอัปลักษณ์ น่าเกลียดน่ากลัว
ส่วนบุคลิกลักษณะภายในจะเป็นผู้ที่มีคุณธรรม จิตใจดีงาม มีความกตัญญู และเป็นผู้ที่มีความสามารถมาก ในด้านของความสามารถเหาะเหินเดินอากาศเกิดขึ้นได้เพราะมีของวิเศษช่วยเหลือ
๓.๒ ตัวละครรอง ตัวละครรองที่ปรากฏในเรื่องสังข์ทองได้ นางรจนา ท้าวยศวิมล พระนางจันเทวี พระนางจันทา นางพันธุรัต ท้าวสามนต์ นางมณฑา เขยทั้ง๖และพระพี่นางทั้ง๖ พระอินทร์ สงกา และตายาย เป็นต้น บุคลิกภาพภายนอกของตัวละครรองส่วนใหญ่จะมีรูปกายที่สวยงาม สำหรับบุคลิกภาพภายใน จะถูกสร้างให้มีความสมจริงคือ มีความรัก โลภ โกรธ หลง อิจฉาริษยา ตามธรรมชาติของมนุษย์

๔ บทสนทนา
บทสนทนาของตัวละคร ในเรื่องสังข์ทองประกอบด้วยคุณสมบัติดังนี้
๑) บทสนทนามีความสมจริง
๒) บทสนทนามีส่วนช่วยในการดำเนินเรื่อง ใช้แทนการบรรยาย
๓) บทสนทนามีส่วนช่วยให้รู้จักตัวละครในเรื่องทั้งรูปร่างและนิสัยใจคอ
๔) บทสนทนามีส่วนช่วยให้เรื่องน่าอ่าน น่าสนใจ และมีชีวิตชีวาขึ้น

๕ กลวิธีการนำเสนอ แบ่งออกเป็น ๓ ชนิด ดังต่อไปนี้
๕.๑ กลวิธีในการวางโครงเรื่อง
๑) กลวิธีในการเปิดเรื่อง ใช้การเปิดเรื่องแบบบรรยาย
๒) กลวิธีในการดำเนินเรื่อง ใช้การดำเนินเรื่องตามแบบปฏิทิน
๓) กลวิธีในการปิดเรื่อง ใช้การปิดเรื่องแบบสุขนาฏกรรม
๕.๒ กลวิธีในการเล่าเรื่อง ใช้กลวิธีการเล่าแบบผู้เล่าเป็นผู้เล่าเองในฐานะผู้รู้แจ้ง
๕.๓ กลวิธีการสร้างตัวละคร
๑) ตัวละครที่เป็นมนุษย์ ถูกสร้างให้มีรูปงาม และมีความรู้ความสามารถเกินความเป็นจริงเพราะใช้ของวิเศษ ลักษณะนิสัยจะมีความคล้ายคลึงกับมนุษย์จริงๆ
๒) ตัวละครที่เป็นอมนุษย์ ถูกสร้างให้มีฤทธิ์มาก สามารถแปลงกาย เหาะเหินเดินอากาศ และรู้ความเป็นไปทุกอย่างด้วยการนั่งฌาน เป็นตัวละครที่คอยช่วยมนุษย์ที่ทำดีในยามคับขันและช่วยคลี่คลายปัญหาในท้ายที่สุด